กิมจิเกาหลี เมนูธรรมดาที่ไม่ธรรมดา

เมื่อพูดถึงกิมจิ อาหารประจำชาติของชาวเกาหลี ที่นับวันยิ่งจะเป็นที่นิยมมากขึ้น ด้วยรสชาติที่มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว จึงทำให้ชาวต่างชาตินิยมลิ้มลองกัน ไม่เว้นแม้แต่คนไทย ที่นิยมนำกิมจิมาเป็นเครื่องเคียงในมื้ออาหารอยู่เสมอ โดยเฉพาะอาหารประเภทปิ้งย่าง ที่มีให้เห็นกันแทบจะทุกร้านเลยทีเดียว นอกจากกิมจิจะมีรสชาติที่เปรี้ยวเผ็ดอร่อยแล้ว กิมจิยังมีวิตามินและสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายมนุษย์อีกด้วย ส่วนที่มาของการทำกิมจินั้น เนื่องมาจากสภาพอากาศของประเทศเกาหลีในช่วงฤดูหนาวที่หนาวจัด จนไม่สามารถทำการเพาะปลูกได้ เพราะฉะนั้นจึงต้องมีการยืดอายุอาหาร โดยวิธีการเก็บรักษาและการถนอมอาหารต่าง ๆ นั่นเอง

แน่นอนว่ากิมจิมีผักเป็นส่วนผสมหลัก ส่วนใหญ่จะเป็นผักกาดขาว ควรเป็นผักกาดขาวจีน เพราะจะทำให้กิมจิรสชาติดี, กะหล่ำปลี และหัวไชเท้า แต่ผักอื่น ๆ ก็สามารถใช้ได้เช่นกัน เช่น ผักชี, ผักเครส, แตงกวา, มะเขือยาว, หัวหอม, ผักกาด, ฟักทอง, ถั่วงอก รวมไปถึงผักโขม และมะเขือเทศก็ใช้ทำกิมจิได้เช่นกัน นำมาปรุงรสด้วยน้ำเกลือ, โคชูการู (พริกป่นเกาหลี), ต้นหอม, กระเทียม, ขิง, จอทกอล (อาหารทะเล เช่น ปลา กุ้ง หอย ไข่ปลา หมักเกลือ และใส่เครื่องปรุงอื่น ๆ) สามารถเพิ่มน้ำปลา และน้ำตาล เพื่อเพิ่มรสชาติให้กับกิมจิได้เป็นอย่างดี

กิมจิ
กิมจิ

ประโยชน์ของกิมจิ มีอะไรบ้าง?

สารอาหารที่ถูกอัดแน่นในผักที่นำมาทำกิมจิ ส่วนใหญ่ประกอบไปด้วย วิตามินเอ, วิตามินซี, วิตามินบี 6, แร่ธาตุ และกรดอะมิโนมากกว่า 34 ชนิด ซึ่งสารอาหารเหล่านั้น อาจมีปริมาณมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับกรรมวิธีกระบวนการทำ เครื่องปรุง ของแต่ละสูตร แต่โดยรวมแล้วการรับประทานกิมจิในปริมาณที่เหมาะสม อาจเข้ามาช่วยปรับปรุงสุขภาพของเราให้ดีขึ้นได้ ดังนี้

  1. เสริมสร้างการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน
    การรับประทานผักที่ผ่านการหมักดอง ทำให้เกิดการก่อตัวของแลคโตบาซิลลัส ซึ่งเป็นแบคทีเรียในเชิงบวกที่ดีต่อสุขภาพ จึงทำให้ไม่เข้าไปขัดขวางการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน และส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันมีการทำงานเป็นไปอย่างเต็มประสิทธิภาพ
  2. สุขภาพหัวใจแข็งแรงขึ้น
    มีการทดสอบจำนวน 100 คน ที่รับประทานกิมจิเข้าไป 15-210 กรัมต่อวัน สรุปได้ว่าระดับน้ำตาลในเลือด และระดับคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี ที่เชื่อมโยงกับการก่อให้เกิดความเสี่ยงของโรคหัวใจนั้นลดลงอย่างเห็นได้ชัด
  3. ระบบย่อยอาหารทำงานได้ดี
    ด้วยโพรไบโอติกส์ ในกิมจิ และแบคทีเรียชนิดดีอย่างแลคโตบาซิลลัส สามารถเข้าไปมีส่วนช่วยสร้างให้ระบบย่อยอาหารมีการทำงานที่ดีมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งยังอาจปกป้องคุณจากโรคท้องร่วง ท้องผูก และปรับปรุงสุขภาพในช่องทางเดินอาหารของคุณให้มีความสมดุลยิ่งขึ้น
  4. บรรเทาอาการอักเสบ
    ในกิมจิมีสารประกอบชนิดหนึ่ง คือ HDMPPA ซึ่งอาจมีส่วนช่วยในเรื่องของการต้านการอักเสบ และบำรุงหลอดเลือดให้มีการไหลเวียนได้ดียิ่งขึ้น ถึงอย่างไรยังคงต้องมีการวิเคราะห์ ศึกษาเพิ่มเติมถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสารประกอบนี้อย่างละเอียดอีกครั้ง
  5. ลดน้ำหนัก
    การรับประทานผักหรืออาหารหมักดอง มักมีตัวเลขของแคลอรี่ที่ต่ำมาก จึงอาจทำให้ผู้ที่รับประทานเข้าไปรู้สึกราวกับว่าน้ำหนักตัวนั้นลดลง แต่ยังไงก็ตามการรับประทานกิมจิควรทานคู่กับเมนูอื่น ๆ ที่มีสารอาหารเพียงพออย่างครบถ้วนตามหลักโภชนาการ เพื่อเป็นการเพิ่มพลังงานในร่างกายของเราในแต่ละวัน และควรออกกำลังกายอย่างเป็นประจำต่อเนื่อง โดยคุณสามารถเข้ารับคำปรึกษาได้จากนักโภชนาการ หรือเทรนเนอร์ควบคู่กันไปด้วยก็ย่อมได้
  6. ปรับปรุงระบบความจำ
    นักวิทยาศาสตร์ได้ทำการทดลองกับหนูทดลอง โดยให้หนูบริโภคผักหรือวัตถุดิบที่นำมาทำกิมจิ ซึ่งพบว่าพวกมันมีการเกิดระบบความจำและทักษะที่ดีขึ้น จึงทำให้นักวิจัยได้ดำเนินการพัฒนาและวิเคราะห์ไปถึงการนำมารักษาโรคอัลไซเมอร์ได้ในอนาคต
คิมบับ
คิมบับ

ผลข้างเคียงของกิมจิต่อสุขภาพ

ถึงจะประโยชน์มากมายต่อสุขภาพดังที่กล่าวมาข้างต้น แต่คุณทราบหรือไม่ว่าการทานกิมจิก็อาจส่งผลเสียต่อร่างกายของคุณได้เช่นกัน เนื่องจากอาหารหมักดอง มักประกอบไปด้วยเกลือ หรือโซเดียมอยู่จำนวนมาก ทำให้ผู้ที่รับประทานเกินกว่าปริมาณ 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน อาจได้รับความเสี่ยงที่จะทำให้กระเพาะอาหาร ลำไส้ของคุณแปรปรวน และเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งกระเพาะอาหารขึ้น

อย่างไรก็ตาม หากมีความประสงค์ต้องการรับประทานกิมจิอย่างปลอดภัย ควรหลีกเลี่ยงการทานแบบสด ๆ และหันมารับประทานควบคู่กับข้าวสวยร้อนๆ หรือนำมาปรุงในเมนูอื่นๆ ทดแทน

สำหรับผู้ที่มีปัญหาด้านสุขภาพเกี่ยวกับความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดในสมอง โรคหัวใจ ควรขอรับคำปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนการรับประทาน

ใครใคร่อยากกินกิมจิกับอาหารเกาหลีแก้เลี่ยนก็จัดไป หรือใครจะเอาไปทำเมนูหมูผัดกิมจิ ข้าวผัดกิมจิ กิมจิผัดไข่ หรือมาม่ากิมจิก็ได้ รับรองอร่อยเด็ดแน่นอน